วันกองทัพไทย เปิดประวัติ ความสำคัญ วันสำคัญของไทย
วันกองทัพไทย ‘วันยุทธหัตถี’ และ ‘วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช’ เป็นวันที่ระลึกในวาระที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีกับมังสามเกียดของพม่า โดยถือเอาวันที่ 18 ม.ค. ของทุกปีเป็น ‘วันกองทัพ ไทย’ ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้เคยกำหนดให้ วันกอง ทัพไทย ตรงกับวันที่ 8 เม.ย. ของทุกปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ได้เปลี่ยนเป็นวันที่ 25 ม.ค. ตามมติของคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น
ในปี พ.ศ. 2535 – 2538 นักคำนวณปฏิทินเชิงประวัติศาสตร์ นายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต และนักคำนวณปฏิทินเชิงดาราศาสตร์ นายลอย ชุนพงษ์ทอง ที่ปรึกษาการคำนวณปฏิทินสำนักพระราชวัง
และสหวิทยาการแห่งราชบัณฑิตสภา ตลอดจนนักโหราคำนวณ พลตรีสุริยน เผือกสกนธ์ ก็ได้คำนวณและต่างลงความเห็นตรงกันในวาระต่างกันว่า แท้จริงแล้ววันดังกล่าวไม่ได้ตรงกับวันที่ 25 ม.ค. แต่ตรงกับวันที่ 18 ม.ค. ปีดังกล่าว
ทางราชการยังคงถือเอาวันที่ 25 ม.ค. เป็น ‘วัน กองทัพไทย’ จนกระทั่งวันที่ 22 ส.ค. 2549 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่สภากลาโหมเสนอผ่าน กระทรวงกลาโหม ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดวันกอง ทัพ ไทยจากวันที่ 25 ม.ค. ของทุกปีเป็นวันที่ 18 ม.ค. ของทุกปี และอนุมัติให้เป็น วันหยุดราชการ ของ กระทรวงกลาโหม โดยเริ่มใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2550
สงครามยุทธหัตถี ในสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2135 ในครั้งนั้น พระเจ้านันทบุเรง ได้ให้พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงทราบข่าวจึงยกทัพหลวงไปตั้งรับที่หนองสาหร่าย ซึ่งระหว่างที่การรบกำลังดำเนินอยู่นั้น ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ พระเอกาทศรถ
ก็ได้ไล่ล่าศัตรูไปจนออกนอกเขตแดน จนทำให้ทั้งสองพระองค์ตกไปอยู่ในวงล้อมของศัตรูโดยไม่รู้ตัว แต่ถึงแม้จะอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ พระองค์ก็มีพระสติ ไม่หวั่นไหว และทรงแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ว่าทางที่จะรอดได้มีเพียงทางเดียวเท่านั้น
คือเชิญพระมหาอุปราชาเสด็จมาทำ ยุทธหัตถี ในท้ายที่สุดพระองค์ก็สามารถกระทำยุทธหัตถีได้รับชัยชนะอย่างสมพระเกียรติ และนับตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกเลย ทำให้ในสมัยนั้นไทยได้ขยายอาณาเขตไปอย่างกว้างขวางกว่าสมัยใดๆ
ซึ่งการทำ ยุทธหัตถี ในครั้งนั้นถือว่าเป็นการทำยุทธหัตถีที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และยังเป็นการรบบนบกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกด้วย เมื่อเสร็จสงครามยุทธหัตถีแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โปรดให้สร้างสถูปเป็นอนุสรณ์ไว้ที่ ทุ่งหนองสาหร่าย ต.ตระพังตรุ ตรงกับที่ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา เรียกกันว่า “เจดีย์ยุทธหัตถี”
ในการนี้กองทัพไทยจึงถือเอาวันที่ พระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา เป็น ‘วัน กองทัพ ไทย’ เรียกกันอีกอย่างว่า ‘วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช’ หรือ ‘วันยุทธหัตถี’ เป็นวันรัฐพิธี แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ